หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

นางในวรรณคดีไทย

              1. นางวันทองหรือนางพิมพิลาไลย



            นางวันทอง เดิมชื่อนางพิมพิลาไลย เป็นนางเอกในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน (เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อแก้เคล็ดให้หายป่วย ตอนขุนแผนไปรบ) นางถูกยื้อไปแย่งมาระหว่างขุนแผน และขุนช้าง จนในที่สุดพระพันวษาต้องให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง แต่นางวันทองก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะแม้ขุนแผนจะเจ้าชู้จนมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งหึงหวงกันอยู่เสมอ แต่ก็เป็นรักแรกและยังมีลูกด้วยกันคือพลายงามอีกด้วย ส่วนขุนช้างแม้จะขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ก็มีรักจริงและรักเดียว แถมดูแลนางอย่างดีเพราะมีเงินทองร่ำรวย การที่นางไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดนี่เอง จึงทำให้ถูกพระพันวษาสั่งประหารชีวิตด้วยความกริ้ว และเป็นเหตุให้ถูกประณามว่า เป็นวันทองสองใจบ้าง นางวันทองสองผัวบ้าง ทั้งๆที่ชีวิตนางวันทองน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะถูกสองหนุ่มยื้อกันไปยื้อกันมา แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็อยู่ในภาวะจำยอมเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ 
              
              ลักษณะนิสัยของนางวันทอง
              1. นางวันทอง เป็นผู้ที่มีความกตัญญู นางมักจะกล่าวอ้างเสมอว่า ขุนช้างมีบุญคุณต่อตน แม้ว่าวันทองไม่ได้รักขุนช้างเลยแต่เมื่อตกเป็นเมียของขุนช้างนางก็ประพฤติตนเป็นเมียที่ดี นางวันทองเป็นหญิงที่มีใจละเอียดอ่อน เมื่อได้รับการดูแลที่ดีจากขุนช้างนางก็มีความสำนึกที่จะทดแทนบุญคุณ เช่น ตอนที่ขุนช้างมีเรื่องกับจมื่นไวยจนขุนช้างต้องติดคุก นางก็จัดหาข้าวปลาอาหารไปส่งให้ในคุกด้วยตนเอง และยังรับปากจะเอาเงินทองไปช่วยติดสินบนคนข้างในให้ช่วยทูลผ่อนปรนโทษ
2. นางวันทอง เป็นคนที่มีความรักและความซื่อสัตย์ต่อสามี เห็นได้จากเมื่อนางทราบข่าวว่าขุนแผนเสียชีวิตในสนามรบ แม่ของนางบังคับให้แต่งงานกับขุนช้างแต่นางวันทองไม่ยินยอมเพราะยึดมั่นในความซื่อตรงต่อสามี แต่เมื่อนางต้องตกเป็นภรรยาของขุนช้าง นางก็ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เข่น การดูแลสามี ดูแลความเรียบร้อยต่างๆในบ้าน
3. จากเรื่องขุนช้างขุนแผน จะเห็นได้ว่า นางวันทองยอมรับความทุกข์ยากที่ตนได้รับโดยไม่ปริปาก และไม่โทษว่า เป็นความผิดของผู้อื่น เพราะนางเชื่อว่า ความทุกข์ทั้งหมดเป็นผลมาจากกรรมที่นางเคยทำไว้ เมื่อขุนแผนพานางหนีเข้าป่า และต้องตกระกำลำบาก นางก็ไม่โทษขุนแผนแต่อย่างใด แต่นางคิดว่า ขุนแผนพามาด้วยความรัก ในเรื่องนี้นั้น ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ในเวลาที่มีความทุกข์ โดยอาจคิดว่าเป็นผลมาจากกรรมที่เคยทำไว้ จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป รู้จักปลง แต่ก็ไม่ใช่งอมืองอเท้ารอรับผลกรรม โดยไม่คิดที่จะทำความดีเพิ่มขึ้น
            วันทอง เปิดตำนานรัก หญิงสองผัว | Double Colour   https://www.youtube.com/watch?v=UqUS4Qh-wto
                  

                                   MV  เพลงอาญาสองใจ (วันทอง)- มินตรา น่านเจ้าLyric Version

             ที่มา  : https://www.gotoknow.org/posts/154937
                      : http://www.dek-d.com/board/view/869411/

       2. นางผีเสื้อสมุทร



            นางผีเสื้อสมุทรเป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่คนรู้จักกันมากที่สุดตัวหนึ่งในวรรณคดีไทยทั้งหมด   แม้จะไม่มีบทบาทมากนักในเรื่อง   แต่ก็ถือเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด   อีกทั้งมีร่างกายสูงใหญ่ รูปร่างอัปลักษณ์   ทำให้คนจดจำนางได้มากขึ้น   แต่ก็มักจะจดจำในแง่ร้าย   โดยเฉพาะในความอัปลักษณ์ของนาง   จนถึงกับมีคำเปรียบเทียบว่า   "ผู้หญิงคนนั้นอ้วนและตัวใหญ่อย่างกับผีเสื้อสมุทร"   แต่ความเป็นจริงแล้ว เบื้องหลังความอัปลักษณ์ กักขฬะนั้น   นางซ่อนอะไรไว้บ้าง
             แต่หากมามองให้ลึกซึ้งถึงจิตใจของนางผีเสื้อสมุทรแล้ว นางก็เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีชีวิตเปล่าเปลี่ยว อ้างว้างไม่เคยพบชายใด อีกทั้งรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์จะมีใครมาเหลียวแล แต่เมื่อนางได้มาพบพระอภัยมณี ก็เกิดความรักครั้งแรกขึ้น และต้องการสร้างครอบครัวร่วมกันอย่างที่ผู้หญิงทั่วไปใฝ่ฝัน   
              นางรู้ตัวว่าเพราะรูปร่างหน้าตาของนาง   คงไม่มีทางที่พระอภัยมณีจะหันมาสนใจนางเป็นแน่แท้ แต่ด้วยความหลงอย่างหน้ามืดตามัว นางจึงตัดสินใจลักพาตัวพระอภัยมณีไปด้วยความหวังว่าเมื่ออยู่ด้วยกันนาน ๆ พระอภัยมณีจะหลงรักนางเอง นางทำทุกอย่างเพื่อให้พระอภัยมณีพอใจ ทั้งแปลงกายเป็นสาวงามเวลาที่อยู่กับพระอภัยมณี หาอาหารมาปรนเปรอมิได้ขาด นางทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีมาโดยตลอด นางเคารพ ให้เกียรติ และเชื่อใจสามีจนในตอนท้ายแม้แต่พระอภัยมณีเองก็ยอมรับว่านางทำหน้าที่ภรรยาได้ไม่ขาดตกบกพร่อง
                  สงสารภัคินีเจ้าพี่เอ๋ย
เป็นคู่เชยเคียงชิดพิศมัย
ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจ
จะหาไหนได้เหมือนเจ้าเยาวมาลย์
ตั้งแต่นี้มีแต่จะแลลับ
จนดับสิ้นกาลาปาวสาน
จนม้วยดินสิ้นฟ้าแลบาดาล
มิได้พานพบสมรเหมือนก่อนมา
พี่แบ่งบุญบรรพชิตอุทิศให้
เจ้าจงไปสู่สวรรค์ให้หรรษา
อันชาตินี้มีกรรมจำนิรา
เมื่อชาติหน้าขอให้พบประสบกัน
เป็นมนุษย์ครุฑาเทวาธิราช
อย่ารู้ขาดเสนหาจนอาสัญ
ให้สมวงศ์พงศ์ประยูรตระกูลกัน
อย่าต่างพันธุ์ผิดเพื่อนเหมือนเช่นนี้

            ในท้องเรื่องตอนนี้  พระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทร เป็นตอนที่สนุกสนานเสมอ ไม่ว่าจะแสดงละครกี่ปี  กี่รอบ  เด็กๆก็ยังประทับใจและนำมาเล่าต่ออย่างสนุกสนานไม่รู้ลืม  เขาจะตลกท่าทางของนางผีเสื้อ  และจะลุ้นให้พระอภัยหนีมาทันถึงเกาะแก้วพิสดาร   นางผีเสื้อสมุทรเป็นนางร้ายอีกคนหนึ่งของละครที่ร้ายกาจเพราะเป็นยักษ์เป็นจ้าวแห่งทะเล  อิทธิฤทธิ์ มีอำนาจเหนือปีศาจในท้องทะเลทั้งหมด  กินสัตว์ทะเล  กินคนด้วย
             แต่สุดท้ายนางก็ตายเพราะความรัก  ตายเพราะเสียงปี่พิฆาตชีวิตของคนที่นางรักที่สุดคือสามีของนางเอง  ก็น่าเห็นใจพระอภัยมณีเหมือนกันต้องทนอยู่กะนางยักษ์ผีเสื้อสมุทรตั้งหลายปี  จนมีลูกคนหนึ่งคือสินสมุทรนางผีเสื้อสมุทรทั้งรัก  ทั้งหวงพยายามเหนี่ยวรั้งพระอภัยไว้แต่แล้วก็ไม่เป็นผลใครจะรู้ถึงใจนางผีเสื้อสมุทรว่าเจ็บช้ำมากเพียงใด เขาหนีจากนาง  และยังเป่าปี่ใส่หูนางจนแสบแก้วหูตาย
             วิญญานรักและแค้นของนางสิงสถิตอยู่ในก้อนหินใต้ทะเลรอเวลาคืนชีพ  ถ้านางฟื้นชีพมาอีกครั้งอิทธิฤทธิ์ก็จะมีมากมายหลายเท่า คราวนี้คงจะแย่เพราะไม่มีพระอภัยมณี  ไม่มีปี่
             ฉะนั้นคุณๆ ทั้งหลายที่ชอบว่าภรรยาตนเองเป็นผีเสื้อสมุทรก็ระวังดีดี  สักวันอาจจะเจอผีเสื้อสมุทรอาละวาด 
    MV เพลงผีเสื้อสมุทร (รักเกินจะหักใจ) - มินตรา น่านเจ้าLyric Version

              ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/138910
                      : http://www.dek-d.com/board/view/869411/

               3. นางเมรี

               นางเมรี เป็นนางเอกในวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง นางสิบสอง เป็นลูกนางยักษ์ ซึ่งนางยักษ์นี้เดิมได้เลี้ยงนางสิบสองมา แต่เมื่อนางสิบสองหนีมาจึงโกรธแค้น ได้ตามมาทำอุบายจนได้เป็นมเหสีของท้าวรถสิทธิ์สวามีนางสิบสอง และควักลูกตานางสิบสองเสีย ยกเว้นนางเภาแม่พระรถเสนพระเอกที่ถูกควักตาเพียงข้างเดียวและเป็นคนเดียวที่ไม่ได้กินลูกเพราะความหิวโหย ต่อมานางยักษ์ได้ออกอุบายจะฆ่าพระรถเสนโดยแกล้งป่วยแล้วให้ไปเอายาในเมืองที่นางเมรีอยู่ โดยฝากสารสั่งให้นางเมรีฆ่าพระรถเสน ถึงเมืองเมื่อไรก็ให้ฆ่าเมื่อนั้น ฤษีก็ได้แปลงสารว่าถึงเมื่อไรก็ให้แต่งงานเมื่อนั้น ซึ่งท้าวรถเสนเองเห็นนางก็หลงรักและแต่งงานกัน แต่เนื่องจากมีงานสำคัญคือช่วยแม่และป้าที่รออยู่ พระรถเสนจึงได้มอมเหล้านางเมรีพร้อมขโมยลูกตาและยาที่จะช่วยแม่กับป้าไป นางเมรีเมื่อสร่างเมา ตามไปก็ถูกพระรถเสนใช้ของวิเศษขัดขวางนางทำให้ตามไปไม่ได้ นางจึงคร่ำครวญจนสิ้นใจตาย ถือเป็นนางเอกที่มีรักแท้แต่เพราะน้ำเมาจึงต้องเสียทั้งคนรักและชีวิตตนในที่สุด คนจึงมักเรียกสาวๆที่ขี้เหล้าว่า นางเมรีขี้เมา และก็มักเปรียบเวลาเปลี่ยนข้อความในจดหมายหรือหนังสือต่างๆว่าเป็นฤษีแปลงสาร
           
วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง นางสิบสอง

MV เพลงเมรี : กระแต - กระต่าย อาร์ สยาม | Project ชาย เมืองสิงห์
                  
                   ที่มา : http://www.dek-d.com/board/view/869411/
            
                   4. นางมโนราห์
                ลักษณะนิสัยของนางมโนราห์
                1. ความรัก และความสัตย์
                    เห็นได้จากพฤติกรรมของนางมโนราห์ ดังความตอนที่นางมโนราห์กล่าวสั่งเสียถึงพระสุธนกับนางจันทเทวีก่อนที่จะบินไปจากการถูกจับบูชายัญว่า
                      
                     กาพย์ยานี
อันเกล้ากระหม่อมฉัน                         จะปฏิญาณอย่าสงสัย
จากฝ่าพระบาทไป                                           จนบรรลัยไม่คิดปอง
                       ไม่ร่วมเสน่หา                                       ภัสดาจนถึงสอง
มิให้ชายใดครอง                                              สัมผัสต้องพระกายา
      อันนอกจากพระองค์                           มิได้ปลงเสน่หา
ขอเป็นบริจา                                                    กับราชาทุกชาติไป
                                                                (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 90)

                จากคำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความรัก และความซื่อสัตย์ของนางมโนราห์ เห็นได้จากที่นางมโนราห์ปฏิญาณตนว่า จะไม่ของครองคู่กับชายอื่นใดนอกเสียจากพระสุธนและขอเป็นพระมเหสีของพระสุธนทุกชาติไป นับว่าเป็นจารีตนิยมอย่างหนึ่งของนางในวรรณคดีไทยโดยทั่วไปที่เป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของหญิงไทยในสังคมไทยในสังคมสมัยโบราณ
                2. ความกตัญญูของนางมโนราห์
                          เห็นได้จากพฤติกรรมของมโนราห์ ดังความตอนที่นางถูกพรานบุญจับและคร่ำครวญถึงมารดาว่า
                  
                          กาพย์สุรางคนางค์ 
                                                       สงสารมารดา  จะเสวยชลนา   เป็นนิจนิรันดร์

       โศกถึงลูกรัก     กลัวจักอาสัญ    เห็นทีชีวัน   ชีพไม่มีใน
       เมื่อจรลี           เบญจางค์ดุษฎี   สามทีคลาไคล
                      พิลาปร่ำสั่ง      ฟากฝั่งสระใหญ่   ทุกเทพอยู่ใน  ป่าระหงดงดาน
             ได้โปรดเกศา   พระแม่ตามมา    ช่วยบอกข่าวสาร
                           ว่าข้ามโนห์รา   ลาไปกับกับพราน  ถ้ายังโปรดปราน ให้เร่งตามไป
                                                                              (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 31)
                 จากคำประพันธ์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูของนางมโนราห์ ที่มีต่อมารดาของตน เพราะว่าตัวถูกจับ แต่ยังคิดถึงแม่ ยังเป็นห่วงแม่กลัวแม่จะมาตามหา นางก็เลยฝากเจ้าป่าเจ้าเขาได้ให้ช่วยบอกลาแม่ของนาง เมื่อออกมาตามหานาง
                 3. การรู้จักให้อภัยของนางมโนราห์
                     เห็นได้จากพฤติกรรมของนางมโนราห์ดังความตอนที่นางมโนราห์ได้ให้อภัยแก่พระอาทิตยวงศ์ผู้ที่เคยคิดร้ายต่อนางมาก่อนว่า

                     กาพย์สุรางคนางค์
                                                  ฝ่ายองค์ราชา     อาทิตยวงศา      ผู้รุ่งรัศมี
                                           เอื้อนอรรถวาจา   ว่าแก่เทวี   ลูกเอยพ่อนี้    จะขอษมา
                                                  ฟังประโรหิต   บิดาได้ผิด  จงอดโทษา
                                            แต่นี้สืบไป   มิให้อะนา   ฝ่ายนางมโนห์รา   ก็ไม่ถือใจ
                                                                  (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 180-181)
                 จากคำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการรู้จักให้อภัยผู้อื่น  ดังเห็นได้จากการที่พระอาทิตยวงศ์มาขอขมาโทษนางมโนราห์ และนางมโนราห์ได้ให้อภัย และไม่ถือโทษโกรธเคืองพระอาทิตยวงศ์ที่เคยคิดร้ายต่อนางมาก่อน
                 4. ความรักนวลสงวนตัวของนางมโนราห์

                  เห็นได้จากพฤติกรรมของนางมโนราห์ดังความตอนที่นางมโนราห์ไม่ยอมให้พรานบุญถูกเนื้อต้องตัวนางในขณะที่พรานบุญกำลังจะจับนางขึ้นจากสระน้ำว่า


                  กาพย์สุรางคนางค์
          นายพรานเห็นช้า   ลงไปจะไปคว้า   กรนิรมล
               ยังยืนอยู่ไย    ไม่ขึ้นมาบน  เห็นว่าจะพ้น  มือแล้วหรือไร
          นางว่าพี่เอ๋ย  อย่าต้องน้องเลย   ข้าจะขึ้นไป
               เหม็นสาบพี่นัก   ปิ่มจะขาดใจ  ให้พรานถอยไป   ทรามวัยขึ้นมา
                                                     (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 28)
                จากคำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึง นางมโนราห์เป็นหญิงที่รู้จักรักนวลสงวนตัว ไม่ยอมให้ชายแปลกหน้ามาถูกเนื้อต้องตัว นางได้หาข้ออ้างว่าตัวพรานบุญนั้นเหม็นสาบจนเป็นลมตายนี่ถือเป็นอุบายอย่างหนึ่งด้วย

                5. ความอ่อนน้อมถ่อมตนของนางมโนราห์
                เห็นได้จากพฤติกรรมของนางมโนราห์ดังความตอนที่นางมโนราห์ ไม่ถือตนเป็นลูกกษัตริย์ รู้จักมีสัมมาคาระต่อผู้อาวุโสกว่า ว่า  


                 กาพย์สุรางคนางค์
         ทุกวันตัวนี้    เจียมจิตสุดที่   ไม่ถือยศถา
             กรรมพลัดพรากวงศ์  ฝากฝังกายา    ไม่คิดเลยนา  เป็นคนใจดี
          ผู้ใดมาหา    อายุสูงกว่า     เรียกว่าน้าพี่
             ครั้นเรียกลุงป้า    น้าอาก็มี   ไม่หยาบย่ำยี    หยาบช้าแก่ใคร
           เสงี่ยมเจียมองค์   ไม่คิดยศยง   เย่อหยิ่งสิ่งใด
             หมายฝากสังขาร   ทั่วทุกคนไป  ควรหรือยังไม่  รอดตายวายชนม์
                                                    (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 84) 
                จากคำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่านางมโนราห์มีความอ่อนน้อมถ่อมตน นางไม่ถือตนว่าเป็นลูกของกษัตริย์ ดังเห็นได้จากนางมโนราห์เรียกผู้ที่อายุสูงกว่าว่า พี่ ลุง ป้า น้า อา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางมีความรู้จักให้เกียรติและมีสัมมาคาระต่อผู้อาวุโสกว่า

             6. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของนางมโนราห์

 เห็นได้จากพฤติกรรมของนางมโนราห์ดังความตอนที่นางมโนราห์ได้แบ่งปันข้าวของตอบแทนให้แก่ผู้ที่นำข้าวของมาถวายให้ตนในงานอภิเษกสมรสว่า

กาพย์สุรางคนางค์

     ส่วนนางมโนราห์   พลัดบ้านเมืองมา   มิได้ราคี
         ของเมืองโน้นให้   ตอบไปตามนี้   มากน้อยถอยที  ตอบไปแทนมา
      สารพัดข้าวของ    แก้วแหวนเงินทอง  มูนมองเหลือตรา
          เมืองเขาให้  ของใต้ตอบมา   ของท้าวพระยา   ตอบแทนเศรษฐี
       ของถวายด้วยกัน   เอาของเมืองนั้น   ตอบแทบเมืองนี้
           น้อยตามยาก      ตามมากตามมี       มิให้เสียที       ที่เขาเข้ามา
                                                     (สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูเพชรบุรี, หน้า 56)
                จากคำประพันธ์ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงนางมโนราห์ที่มีจิตใจงดงาม มีความเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น นางได้แบ่งปันข้าวของตอบแทนให้แก่ผู้ที่นำข้าวของมาถวายให้แก่นางในงานอภิเษกสมรส
                
วรรณกรรมท้องถิ่นเรื่องนางมโนราห์

MV เพลงมโนราห์ (พระสุธน มโนราห์)- มินตรา น่านเจ้าLyric Versionhttps://www.youtube.com/watch?v=WPoHbRKifjw

                   ที่มา : http://thaicharm.exteen.com/page-2

                   5. นางสีดา


            นางสีดา เป็นนางเอกในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นเมียของพระราม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์มาปราบยักษ์(ทศกัณฐ์) รูปโฉมของนางสีดานั้นเป็นที่เลืองลือว่าล้ำเลิศจนไม่มีมนุษย์หรือเทพธิดาใดจะสามารถเทียบเคียงได้ จึงเป็นเหตุให้ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกามาลักพาตัวไป และเกิดศึกชิงนางยืดเยื้อนานถึงสิบกว่าปี จนในที่สุดพระรามซึ่งมีหนุมานเป็นสมุนเอกก็รบชนะพานางสีดากลับมากรุงอยุธยาได้ และนางสีดาก็ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจและความจงรักภักดีด้วยการลุยไฟต่อหน้าพระรามพระสวามี ดังนั้น นอกจากความสวยงามแล้ว การพิสูจน์ความรักด้วยการลุยไฟของนางสีดา ก็เป็นสิ่งถูกนำมามาพูดกันอยู่เสมอ

            ลักษณะนิสัยของนางสีดา

            นางสีดาเป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสามีเป็นเลิศ  และแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของภรรยาต่อสามี  นางสีดามีความซื่อสัตย์ต่อพระรามมาก  เริ่มตั้งแต่การขอติดตามพระราม  ซึ่งต้องออกจากบ้านเมืองที่สุขสบายไปอยู่ในป่า  ดำเนินชีวิตอย่างเร่ร่อนตกระกำลำบาก  ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันดียิ่งของภรรยาที่พึงมีต่อสามี   ดังคำประพันธ์ที่ว่า


ถึงยากลำบากในไพรวัน                      จะสู้ดั้นโดยเสด็จพระทรงฤทธิ์
ขุกไข้จะได้ปรนนิบัติ                                      ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
                                    แม้นตายไม่เสียดายชีวิต                       ให้ทศทิศประจักษ์ว่าภักดี

             จะเห็นได้ว่า  นางสีดามีความจงรักภักดีต่อพระราม  และเป็นแบบอย่างของหญิงในอุดมคติเสมอ  คือ  รักษาความซื่อสัตย์  รักเดียวใจเดียว  ในตอนที่พระรามถูกเนรเทศออกจากเมือง  นางก็ตัดสินใจขอติดตามพระรามไปด้วย   แสดงให้เห็นว่านางสีดาเป็นหญิงที่อยู่ในกรอบของจารีตทางสังคมที่ถือว่า  หญิงไม่อาจครองตัวอยู่ในสังคมได้ตามลำพัง  หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเคียงข้าง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีจนกว่าจะตายจากกันเพราะการถูกสามีทอดทิ้งหรือเป็นหม้าย  ซึ่งเป็นสถานะเลวร้ายที่ผู้หญิงไม่พึงประสงค์  นางสีดาเป็นหญิงที่เต็มไปด้วยความดีความซื่อสัตย์  เห็นได้จากการที่นางอ้อนวอนขอตามพระรามไปเดินป่าด้วยมีเหตุผลที่ว่า
อันหญิงซึ่งไร้ภัสดา                     ถึงจะมียศถาศักดิ์ศรี
ก็ไม่งามแก่ตาในชาตรี                                 เหมือนมณีไร้เรือนสุวรรณ
......................................                              ........................................
แม้นไม่เมตตาข้าบาท                                  จงพิฆาตฟาดฟันเสียก่อน
จึงค่อยเสด็จบทจร                                        ไปจากนครวังจันทน์
จึงจะสิ้นความโศก                                       ที่วิโยคจากจอมไอศวรรย์
ซึ่งจะทิ้งข้าไว้ผู้เดียวนั้น                                จะรู้ที่ผันพักตร์ไปพึ่งใคร

ครั้นเมื่อถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป   ถูกเกี้ยวพาราสีและถูกหลอกล่อด้วยเพทุบาย

ต่างๆ  นางสีดาก็ยังมีจิตใจยึดมั่นต่อสามีตลอดเวลาที่อยู่ห่างไกลกัน   นางยังคงครองตัวไว้อย่างซื่อสัตย์  และด้วยบุญบารมีของนาง  เมื่อทศกัณฐ์เข้าใกล้นางจึงเกิด  “ ร้อนฤทัยดังไฟกัลป์ ”  ความซื่อสัตย์และความมั่นคงที่นางมีต่อพระราม นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีแก่กุลสตรีจนมีสำนวนติดปากว่า  “ ภักดีดุจนางสีดาภักดีต่อพระราม ”  อีกประการหนึ่ง นางเป็นหญิงที่รอบคอบ  มีความยั้งคิด  และค่อนข้างเชื่อมั่นในตนเองสูง    มีความเด็ดเดี่ยว  คือ  การผูกคอตายและหนุมานมาช่วยนางไว้ได้นั้น  หนุมานได้ทูลเชิญนางไปเฝ้าพระรามโดยเสด็จไปบนฝ่ามือ  นางปฏิเสธทั้งที่ปรารถนาจะได้พบกับพระรามเพราะเหตุผลว่า

                                    อันตัวเรายากเย็นเพราะเป็นหญิง     ไม่สิ้นสิ่งพะวงสงสัย

ยักษ์ลักมาลิงพาไป                           เทพไทจะติฉินนินทา


และการลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนางสีดา  เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความมั่นคงที่มีต่อพระรามด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน    การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนางสีดาหลังจากเสร็จศึกกรุงลงกาแล้วนี้  ส่วนหนึ่งเป็นความตั้งใจของพระรามที่จะระงับข้อแหนงแคลงใจของคนทั่วทุกทิศ ที่มักคิดว่า  “ ธรรมดาหญิงตกถึงมือชายเป็นที่พิรุธราคิน  ทรลักษณ์มลทินหมองไหม้  ”  แต่ในส่วนตัวของพระรามเองแล้ว  พระองค์เชื่อถือความบริสุทธิ์ซื่อสัตย์ของนางสีดาโดยไม่มีข้อกินใจ   การลุยไฟนี้แสดงให้เห็นว่า  นางสีดาเป็นคนที่มีความเด็ดเดี่ยว  กล้าหาญ   นอกจากนี้นางยังเป็นผู้ที่รู้คุณ  กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ   เช่น  ในตอนที่นางสีดากล่าวขอบคุณพระลักษมณ์ที่ช่วยเหลือนางมาตลอด และความใจแข็งไม่ยอมเชื่อใคร  ทั้งยังรักศักดิ์ศรีของตน  ทำให้นางสีดารักมั่นคงต่อพระรามเพียงพระองค์เดียว  ขณะเดียวกันเมื่อนางเจ็บแค้นที่พระรามไม่เชื่อใจ  นางก็ไม่ยอมคืนดีกับพระรามอีกเลยร้อนถึงพระอิศวรต้องเชิญเสด็จขึ้นไปบนสวรรค์  ทรงขอร้องนางสีดาจนสำเร็จและจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ใหม่


     The Rube - I'M SORRY (สีดา) | ( OFFICIAL MV )


MV เพลงในหนึ่งใจ.. มีหนึ่งเดียว (จากใจสีดา)

ที่มา : http://thaicharm.exteen.com/page-3

6. นางสุพรรณมัจฉา

นางสุพรรณมัจฉา (ความหมาย: "ปลาทอง") เป็นตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ อันเป็นบุตรของทศกัณฑ์ ที่ต่อมาได้ตกเป็นภรรยาคนหนึ่งของหนุมาน ทหารเอกของพระราม อันเป็นตัวเอกของวรรณคดีเรื่องดังกล่าว
นางปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อครั้งที่พระรามให้หนุมานถมมหาสมุทรข้ามไปยังกรุงลงกา ทศกัณฑ์จึงให้นางสุพรรณมัจฉาและบริวารที่เป็นปลาลอบขนหินถมทะเลดังกล่าวไปทิ้ง หนุมานสงสัยจึงดำลงไปใต้ท้องทะเลจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ภายหลังทั้งสองได้ร่วมรักกันและมีบุตรคือ มัจฉานุ ที่ตัวเป็นลิงมีหางเป็นปลา
เช่นเดียวกับนางสีดา ที่มีบิดาเป็นยักษ์ แต่ก็มีรูปโฉมที่สวยงาม แม้นางสุพรรณมัจฉาจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทไม่มากนัก แต่ก็เป็นที่กล่าวขานถึงรูปลักษณ์ที่งดงามที่ปรากฏตามจิตรกรรมฝาผนัง จนเป็นหนึ่งในนางในวรรณคดีที่มีชื่อเสียงนางหนึ่งทั้งนี้นางสุพรรณมัจฉาปรากฏอยู่ในรามายณะของภูมิภาคอุษาคเนย์บางประเทศเท่านั้น

ประวัติ
นางสุพรรณมัจฉา เป็นบุตรของทศกัณฑ์ กับนางปลา  ซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานแต่ทศกัณฑ์ได้แปลงกายเป็นปลาลงไปสมสู่จนกำเนิดบุตรขึ้นมา แม้ทศกัณฑ์จะเป็นยักษ์ แต่ในวรรณคดีอนุโลมให้ทศกัณฑ์เป็นมนุษย์  ด้วยเหตุนี้ในงานจิตรกรรมฝาผนังเธอจึงมีรูปลักษณ์ที่ท่อนบนเป็นมนุษย์ส่วนท่อนล่างเป็นปลา คือกลายเป็น นางเงือก กระนั้นนางสุพรรณมัจฉาก็มีรูปโฉมที่งดงาม มีผิวกายผ่องพรรณเป็นสีทอง ดังปรากฏความว่า

แสดงรูปนาเรศ
สุพรรณมัจ ฉาเฮย

ผิวเทียมทองอุบัติ
ผ่องพ้น
              ธิดาทศเศียรกษัตริย์
              มาตุเรศปลาแฮ

              ที่ลักคาบศิลาล้น
              สมุทรครั้งถมถนน


ด้วยเหตุนี้นางสุพรรณมัจฉาจึงเป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา แต่ด้วยความที่นางสุพรรณมัจฉามีท่อนล่างเป็นปลา จึงอาศัยอยู่เพียงแต่ในน้ำในมหาสมุทร มิอาจอยู่ในเวียงวังดังบุตรคนอื่น

ความสัมพันธ์กับหนุมาน
ครั้นเมื่อพระราม ได้มอบหมายให้หนุมานและนิลพัทพาพลวานรไปถมมหาสมุทรเพื่อทำถนนไปสู่กรุงลงกา เมื่อทศกัณฑ์ล่วงรู้เข้าจึงสั่งให้สุพรรณมัจฉาและบริวารคือฝูงปลาคาบก้อนหินของฝ่ายพระรามไปทิ้งเสีย ทำให้การถมถนนไม่เป็นผลสำเร็จหนุมานจึงเกิดความสงสัย จึงดำลงไปใต้น้ำพบนางสุพรรณมัจฉาและฝูงปลากำลังคาบก้อนหินไปทิ้ง หนุมานโกรธแค้นมากจึงชักตรีออกไปฆ่านางสุพรรณมัจฉา แต่ท้ายที่สุดหนุมานก็เปลี่ยนทัศนคติแปรเป็นความรักต่อนาง หนุมานจึงเกี้ยวพาราสีและร่วมสังวาสกัน ดังปรากฏความว่า

             เมื่อนั้น
นวลนางสุพรรณมัจฉา

ได้ร่วมรสรักภิรมยา
กับวายุบุตรวุฒิไกร
               อิบแอบแนบชิดพิศวง   
              งวยงงด้วยความพิศมัย

               แสนรักแสนสวาทจะขาดใจ
              อรทัยลืมกลัวพระบิดา

            ลืมเล่นในท้องชลธาร
           ลืมฝูงบริวารมัจฉา
            ลืมอายลืมองค์กัลยา
    
           เสน่หาเพิ่มพ้นพันทวี







หลังสิ้นการสังวาส นางสุพรรณมัจฉาก็เลิกก่อกวนการสร้างถนน แต่ก็ทำสำเร็จเปราะหนึ่งเพราะหนุมานก็ต้องเสียเวลามาร่วมเพศกับนางระยะหนึ่ง  ต่อมานางสุพรรณมัจฉาได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อ มัจฉานุที่เป็นลิงแต่มีหางเป็นปลา นางสุพรรณมัจฉาเกรงว่าทศกัณฑ์ผู้บิดาจะล่วงรู้ว่านางได้เสียกับหนุมานแล้ว จึงนำบุตรมาทิ้งไว้ที่ชายหาด ที่ต่อมาไมยราพณ์ได้นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

ทางศาสนา
ในอดีตเมื่อถึงช่วงเวลาทอดกฐินจะมีการประดับธง คือ "ธงจระเข้" คู่กับ "ธงนางมัจฉา" เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ด้วยเหตุนี้ธงจระเข้และนางมัจฉาจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่น ๆ

MV เพลงสุพรรณมัจฉา

ที่มา : http://www.wikiwand.com/th

            7. นางบุษบา
นางบุษบาเป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง ประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา       บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวากิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคนใจกว้างและมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่น 
            นอกจากนั้นบุษบายังเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดา พระมารดา ยอมแต่งงานกับระตูจรกา แม้ว่าจะไม่พอใจในความขี้ริ้วขี้เหร่ของระตูจรกาก็ตาม
        นางถูกเทวดาบรรพบุรุษ ของวงค์อสัญแดหวาคือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนา และพระบิดาพระมารดาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย

ลักษณะนิสัยของนางบุษบา
1.บุษบาเป็นหญิงที่มาแบบฉบับของลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ แม้ว่านางจะไม่พอใจ
ในรูปร่างของจรกา แต่นางก็ยอมที่จะไม่ทำตามใจตนเองเพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
            2. เป็นคนไม่เจ้ายศเจ้าอย่างหรือถือว่าตนสูงศักดิ์กว่านางจินตะหรา เห็นได้จากตอนที่จินตะหราได้ให้นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีมาเฝ้า บุษบาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
            3. เป็นคนไม่เหลาะแหละ รู้จักโต้เถียงแสดงความฉลาดรู้ทันอิเหนาและรักษาเกียรติของตนเองไม่ยอม หลงเชื่ออย่างง่ายๆ ในตอนที่อิเหนาพูดว่า  

                         "อันนางจินตะหราวาตี     ใช่พี่จะมุ่งมาดปรารถนา
            หากเขาก่อก่อนอ่อนมา     ใจพี่พาลาก็งวยงง……" 

            จากที่อิเหนาพูดนี้ก็ทำให้นางบุษบารู้ว่าอิเหนาเจรจาเข้าข้างตัวเอง นางก็โต้ตอบว่าอย่ามาแกล้งพูดเลยว่าจะไม่เลี้ยงนางจินตะหราวาตี เพราะมีลายลักษณ์อักษรและใครๆก็รู้กันทั่วว่าอิเหนาไม่ต้องการนาง นางจึงโต้ตอบ เมื่ออิเหนาแก้ตัวว่าที่ลักนางมาก็ด้วยความรักว่า

" จะให้เชื่อพจมานหวานถ้อย              จะได้ไปเป็นน้อยชาวหมันหยา
เขาจะเชิดชื่อฤาชา                                           ว่ารักสามีท่านกว่าความอาย
อันความอัปยศอดสู                                         จะติดตัวชั่วอยู่ไม่รู้หาย
ร้อนใจอะไรเล่าเจ้าเป็นชาย                              ไม่เจ็บอายขายหน้าก็ว่าไป "

และตอนที่ นางบวชเป็นแอหนัง (ชี ) แลัวถูกปันหยีขโมยกริชไป นางก็คร่ำครวญ
ต่อว่าพี่เลี้ยงด้วยความรักเกียรติสตรีว่า

"พี่แกล้งเป็นใจด้วยปันหยี                   เห็นคนอื่นดียิ่งกว่าข้า 
ในถ้อยคำที่ร่ำพรรณนา                                    ว่าแสนเสน่หาอิเหนานัก
เป็นไฉนจึงยกน้องให้                                      แก่ชาวไพร่ต่ำช้าบรรดาศักดิ์
กระนี้ฤาพี่เรียกว่ารัก                                        พึ่งจะประจักษ์ในน้ำใจ
สู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง                                      อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย
ถึงมาตรแม้นชีวันจะบรรลัย                             จะตายในความซื่อสัตยา" 

4. เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองแม้ว่านางจะตกอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับ โดยนางไม่ยอมทำตามผู้ใหญ่ ดังตอนที่ท้าวดาหามีดำรัสให้ขึ้นมาเข้าเฝ้าอิเหนา นางรู้ว่าจะให้ไปไหว้จึงเข้าไปนอนด้วยความเคืองไม่เข้าเฝ้าตามรับสั่ง จนเดือดร้อนถึงมะเดหวีต้องมาจัดการ แต่นางก็ไม่ออกมาโดยดีๆ ต้องผลักไสกัน
            5.มีความซื่อสัตย์ ได้รักษาตัวไว้รอคอยอิเหนา ดังกลอนว่า

 "ถึงมาตรสู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง          อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย 
แม้นชีวันจะบรรลัย                                         จะตายในความซื่อสัตยา" 

6.ไม่มีจริตแง่งอน เมื่ออิเหนาลักพานางไปไว้ในถ้ำ ก็ยินยอมแต่โดยดี
7.เมื่อเป็นชาย คือมิสาอุณากรรณก็ปฏิบัติตนกับระตูประมอตันอย่างบิดาของตน
8.มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ระตูประมอตัน
9.มีความกล้าหาญจนมีระตูมาขอเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง
10.ไม่มีความริษยาถือโกรธผู้ใด มีน้ำใจ เมื่อมารดาให้ไหว้นางจินตะหรา บุษบาก็ยอม
ตาม ดังที่นางกล่าวกับอิเหนาว่า 

            "แม้นน้องรักทักท้วงหวงหึง                 พระองค์จึงห้ำหั่นเกศา 
เป็นถ้อยยำคำมั่นน้องสัญญา                             เชิญเสด็จเชษฐารีบคลาไคล"

และนางยอมให้อิเหนายกจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี ด้วยเห็นว่านาง
จินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญฯ ข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือน นับว่าบุษบาเป็นหญิงไทยในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง

เพลงบุษบาเสี่ยงเทียน

ที่มา : http://wwwaomnoi.blogspot.com/p/blog-page.html

            8. พระเพื่อนพระแพง

ตำนานรักพระลอ ความว่า เดิมเจ้าราชวงศ์แมนสรวงกับเจ้าราชวงศ์สรองเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่โอรสและธิดาของ 2 เมืองนี้เกิดรักกันและยอมตายด้วยกัน ฝ่ายชายคือพระลอเป็นกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง มีพระชายาชื่อนางลักษณวดี พระลอเป็นหนุ่ม รูปงามมากเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนทำให้พระเพื่อนพระแพงเกิดความรักและ ปรารถนาที่จะได้พระลอมาเป็นสวามี พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง ชื่อนางรื่นนางโรย ได้ออกอุบายส่งคนไปขับซอยอโฉมพระเพื่อนพระแพงให้พระลอฟัง และให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเกิดความรักหลงไหลคิดเสด็จไปหานาง
ฝ่ายพระนางบุญเหลือชนนีของพระลอทราบ จึงหาหมอแก้เสน่ห์ได้ แต่ปู่เจ้า สมิงพรายได้เสกสลาเหิน(หมากเหิน) มาให้พระลอเสวยในตอนหลังอีก ถึงกับหลงไหลธิดาทั้งสองมากขึ้น จึงทูลลาชนนีและพระนางลักษณวดีไปยังเมืองสรอง พร้อมกับนายแก้วนายขวัญพี่เลี้ยง เมื่อมาถึงแม่น้ำกาหลงได้เสี่ยงทายกับแม่น้ำ แม่น้ำกลับวนและเป็นสีเลือด ซึ่งทายว่าไม่ดี แต่พระลอก็ยังติดตามไก่ที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกมนต์ล่อพระลอให้หลง เข้าไปในสวนหลวง แล้วแอบได้พระธิดาทั้งสองเป็นชายา นายแก้วนายขวัญก็ได้กับนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยง
 เมื่อพระพิชัยพิษณุกร พระบิดาของพระเพื่อนพระแพงทราบเรื่องก็ทรงกริ้ว แต่พอทรงพิจารณาเห็นว่าพระลอมีศักดิ์เสมอกันก็หายกริ้ว แต่พระเจ้าย่า(ย่าเลี้ยง) ของพระเพื่อนพระแพงโกรธมาก เพราะแค้นที่พระบิดาของพระลอได้ประหารท้าวพิมพิสาครสวามีในที่รบ พระเจ้าย่าถือว่าพระลอเป็นศัตรู จึงสั่งทหารให้ไปล้อมพระลอที่ตำหนักกลางสวน และสั่งประหารด้วยธนู ทั้งพระลอ พระเพื่อน พระแพง และนายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย ร่วมกันต่อสู่ทหารของพระเจ้าย่า อย่างทรหด จนสุดท้ายถูกธนูตายในลักษณะพิงกัน ตายด้วยความรักทั้ง 3 องค์
ท้าวพิชัยพิษณุกร ทรงทราบว่าพระเจ้าย่าสั่งให้ทหาร ฆ่าพระลอพร้อมพระธิดาทั้งสององค์ ทรงกริ้วและสั่งประหารพระเจ้าย่า(เพราะมิใช่ชนนี)เสีย แล้วโปรดให้จัดการพระศพพระลอกับ พระธิดาร่วมกันอย่างสมเกียรติ และส่งทูตนำสาส์นไปถวายพระนางบุญเหลือ ชนนีของพระลอ ที่เมืองแมนสรวง สุดท้ายเมืองสรองกับเมืองแมนสรวงกลับมีสัมพันธไมตรีกันต่อมา

คติและแนวคิด
          ตำนานรักพระลอเป็นนิยายพื้นบ้านที่ให้รสวรรณคดีทุกรส ได้แก่ ความรัก ความโศก กล้าหาญ และเสียสละ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงผลเสียของความแค้น ความอาฆาต พยาบาท ตลอดจนอนุภาพแห่งความรัก ที่เป็นอมตะรักของพระลอ พระเพื่อนพระแพง
ที่มา : https://blog.eduzones.com/poonpreecha/93705

พระเพื่อนพระแพง

เพลงยอยศพระลอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น